
5 ข้อผิดพลาด “เรซูเม่” แบบไหนที่เขา “คัดทิ้ง” ไม่พิจารณา
5 ข้อผิดพลาด “เรซูเม่” แบบไหนที่เขา “คัดทิ้ง” ไม่พิจารณา เรซูเม่ (Resume) คือ ประวัติย่อของผู้สมัครงาน เป็นเครื่องมือที่เราใช้นำเสนอตัวเอง ให้กับคนที่มีอำนาจเลือกเราเข้าทำงาน โดยเรซูเม่นั้นจะเป็นด่านแรกที่จะทำให้ฝ่ายบุคคลรู้จักเรา ซึ่งถ้าเรซูเม่เราน่าสนใจ เขาก็จะเลือกเราให้เข้าสู่ด่านต่อไป อันที่จริง การทำเรซูเม่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากคือ การทำออกมาให้ถูกหลักและมีคุณภาพต่างหาก
เพราะฉะนั้น การมี “เรซูเม่” ที่โดดเด่น ถูกหลักการ มีคุณภาพ เป็นเรื่องจำเป็นหากต้องการจะได้งานทำ ความโดดเด่นที่ว่า ไม่ได้หมายความต้องมีสีสันฉูดฉาด ตกแต่งสวยงามเกินหน้ากระดาษแผ่นอื่น แต่เป็นความโดดเด่นของประวัติ ความเป็นมืออาชีพ ความน่าเชื่อถือ ชนิดที่เพียงแค่เห็นผ่านตาก็ดึงดูดให้อยากจะหยิบมาพิจารณา
การเขียนเรซูเม่เพื่อสมัครงาน จึงเป็นทักษะที่ทุก ๆ คนควรมี เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยหางาน อย่างไรก็ดี มีข้อผิดพลาดบางประการที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่แม้แต่จะเลือกหยิบประวัติเราขึ้นมาพิจารณา แบบนี้แล้ว เราควรระวังและกลับไปปรับปรุงเรซูเม่ของตัวเองอย่างไรบ้าง
1.เน้นสวยงามอลังการมากเกินไป
วัตถุประสงค์ของการเขียนเรซูเม่นั้น เป็นเอกสารที่ใช้สำหรับยื่นของานทำ เขาสนใจประวัติที่อยู่ในแผ่นกระดาษมากกว่าความสวยงามอลังการ หากเป็นตำแหน่งงานทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้ต้องการความครีเอท ให้เน้นรูปแบบที่ดูเรียบง่าย สุภาพ จัดหน้าให้อ่านง่ายสะอาดตา ใส่ใจเรื่องการจัดวางข้อความ ใช้ฟอนต์ที่เป็นทางการ และขนาดตัวหนังสือไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป แต่ถ้าเป็นสายงานด้านศิลปะ ก็อาจจะทำให้ดูมีลูกเล่นที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์มากขึ้้น แต่ต้องไม่รก หรือสีสันฉูดฉาด ใช้หลักน้อย ๆ แต่มากก็พอ
2.ใช้อีเมลไม่เป็นทางการ
สำหรับการสมัครงาน อะไรที่ดูแล้วไม่เป็นทางการ มันก็แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพ ความไม่จริงจัง ไม่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้น การใช้อีเมลสมัยเรียนที่เป็นชื่อเล่นแล้วตามด้วยภาษาวัยรุ่น ฉายา ตัวหนังสือที่พิมพ์ลวก ๆ ไม่มีความหมาย หรือคำหยาบคาย เอาไว้ใช้สมัครใช้งานเว็บไซต์ สมัครเข้าใช้โซเชียลมีเดีย หรือเอาไว้ใช้ติดต่อกับเพื่อนฝูงเท่านั้นก็พอ อย่านำมาใส่ในเอกสารที่ใช้ยื่นสมัครงานเด็ดขาด ชื่ออีเมลที่เหมาะสมที่สุดคือ ชื่อจริง นามสกุลจริงของตัวเอง สามารถศึกษาวิธีการตั้งชื่ออีเมลที่เหมาะสมได้จาก Google เลย
3.ใช้รูปภาพไม่เหมาะสม
การส่งเรซูเม่ไปสมัครงาน เราต้องให้เกียรติกับบริษัทที่กำลังจะสมัครงานด้วย และที่สำคัญ คือให้เกียรติตัวเอง ทำให้ตัวเองดูเป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือ การสมัครไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะใช้รูปภาพเซลฟี่ ภาพที่แต่งกายไม่เป็นทางการ หรือรูปที่ใช้ตั้งเป็นโปรไฟล์โซเชียลมีเดีย แต่ควรใช้ภาพที่แต่งกายสุภาพเป็นทางการ หน้าตรง ซึ่งสมัยนี้ เราไม่จำเป็นต้องเช่าชุดสูทไปถ่ายรูปสมัครงาน ร้านเขาตัดต่อให้ได้ มีสูทให้เลือกหลายแบบเลย การที่เราใช้ภาพไม่เป็นทางการ นั้นแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไรนัก เขาอาจปัดตกทันที เพราะดูแล้วไม่น่าจ้างมาร่วมงานด้วยเลย
4.สั้นกุด-ยาวเกินไป
สิ่งหนึ่งที่ควรระวังเวลาจะส่งประวัติย่อ นั่นคือความยาว เรซูเม่คือ “ประวัติย่อ” ไม่ใช่ “บทความ” ต่อให้เกียรติประวัติจะยาวเป็นหางว่าวแค่ไหนก็ไม่ควรจะเกิน 1 แผ่นกระดาษ A4 (หน้า-หลัง) คัดเฉพาะประวัติเด่น ๆ ที่เข้ากับสายงานที่สมัคร และควรเขียนเป็นข้อ ๆ มากกว่าการเขียนบรรยาย จะอ่านได้ง่ายกว่า เพราะเจ้าหน้าที่เขาไม่ได้มีเวลามานั่งอ่านประวัติของคนสมัครงานจนครบ ถ้าเขียนยาวเกินไป เขาอาจจะไม่อยากอ่านก็ได้ แต่ถ้าสั้นกุดจนเกินไป ความยาวแค่ครึ่งหนึ่งหรือยังไม่เต็ม 1 ด้าน A4 ก็กระไรอยู่ ดูไม่มีอะไรที่โดดเด่นจะจ้างมาทำงาน
5.มีแต่กราฟิกเต็มไปหมด
เด็กสมัยนี้ควรจะระวังมากถึงมากที่สุด คือการใส่ทักษะความสามารถของตนเองในรูปแบบกราฟิก เช่น แผนภูมิหรือหลอดพลังงาน สำหรับเราอาจมองว่าสวย ทันสมัย ไม่จืดชืด และโดดเด่น แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ที่พิจารณาเรซูเม่เขาไม่ปลื้ม สิ่งที่เขาอยากรู้คือถนัดระดับไหน เชี่ยวชาญก็บอกเชี่ยวชาญ พอใช้ก็บอกพอใช้ ไม่ต้องมานั่งวัดระดับสเกลเอง แต่ละคนประเมินไม่เท่ากัน และที่สำคัญ ไม่ดึงความสนใจไปที่ข้อด้อยของเรามากเกินไปด้วย เพราะจะเห็นชัดมากเมื่อความเต็มของหลอดต่างกัน เรซูเม่ไม่ต้องเน้นความสวยงาม ให้เน้นประวัติที่ดี เป็นทางการ และสุภาพสะอาดตา
เป็นอย่างไรบ้าง กับ 5 ข้อผิดพลาด “เรซูเม่” แบบไหนที่เขา “คัดทิ้ง” ไม่พิจารณา ที่เรานำมาฝากวันนี้ หวังว่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย เพื่อเป็นแนวทางให้กับคนที่กำลังจะสมัครงานนะคะ
ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า คมนาคมรูปแบบนี้เกิดขึ้น จากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แบบ...